บทความทางกฎหมาย/กฎหมายใหม่
ปัญหาความเท่าเทียมระหว่างเพศ*
*พัชรินทร์ ไวกวี
ความเท่าเทียมทางเพศระหว่างชายหญิง ตามพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 เป็นการขจัดปัญหาความไม่เท่าเทียมระหว่างเพศชายและเพศหญิงไว้แล้ว
แต่เกิดความไม่เท่าเทียมขึ้นระหว่างชายกับชาย และหญิงกับหญิง ในด้านครอบครัวอย่างชัดเจน ที่บุคคลดังนี้ไม่อาจใช้ชีวิตครอบครัวตามที่กฎหมายรับรองได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 เช่น การหมั้น มาตรา 1435 การหมั้นจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุ 17 ปีบริบูรณ์ หรือมาตรา 1448 การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุ 17 ปีบริบูรณ์แล้ว ดังนั้น ชายกับชาย หรือหญิงกับหญิง ไม่อาจเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายการสร้างครอบครัวตาม บรรพ 5 ได้ ไม่ว่าจะเป็นการหมั้น การสมรส บิดามารดากับบุตร ตลอดจนค่าอุปการะเลี้ยงดู
เมื่อบุคคลได้รับความคุ้มครองตามหลักสิทธิมนุษยชนมากขึ้น โดยให้การยอมรับความสำคัญในปัจเจกบุคคลความเป็นมนุษย์ที่จะมีสิทธิเสรีภาพตามกฎหมายบัญญัติ กฎหมายใดที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนจะถูกขจัดไป
ปัญหาหนึ่งที่เห็นเด่นชัดในยุคปัจจุบันคือการสร้างครอบครัวระหว่างบุคคลเพศเดียวกันของประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายให้ความรับรอง โดยเฉพาะเคยมีคำพิพากษาฎีกาที่ 157/2524 มีข้อเท็จจริงว่า ผู้ร้องเป็นชายโดยกำเนิด แม้จะได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนแปลงอวัยวะเพศเป็นหญิงแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่มีกฎหมายรับรองให้สิทธิผู้ร้องที่จะขอเปลี่ยนแปลงเพศที่ถือกำเนิดมาได้ ทั้งมิใช่เป็นกรณีที่ผู้ร้องจะต้องใช้สิทธิทางศาลตามกฎหมาย ฉะนั้น ผู้ร้องจะขอให้ศาลมีคำสั่งให้
เปลี่ยนเพศมาเป็นหญิงไม่ได้
ข้อสังเกตประการหนึ่งของฎีกานี้ คือ ศาลฎีกา ถือคำว่า หญิง ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน หมายความถึง คนที่ออกลูกได้ ผู้ร้องถึงแม้เปลี่ยนเพศแล้วแต่ก็รับอยู่ว่าไม่สามารถมีบุตรได้ ฉะนั้น โดยธรรมชาติและตามที่กฎหมายรับรอง ผู้ร้องยังคงเป็นเพศชายอยู่และไม่มีกฎหมายรับรองให้สิทธิผู้ร้องขอเปลี่ยนแปลงเพศที่ถือกำเนิดมาได้
ต่อมา ประเทศไทยได้มี พระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 บังคับใช้ มาตรา ๓ ในพระราชบัญญัตินี้ บัญญัติว่า “การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ” หมายความว่า การกระทําหรือไม่กระทําการใดอันเป็นการแบ่งแยก กีดกัน หรือจํากัดสิทธิประโยชน์ใด ๆ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม โดยปราศจากความชอบธรรม เพราะเหตุที่บุคคลนั้นเป็นเพศชายหรือเพศหญิง หรือมีการแสดงออกที่แตกต่างจากเพศโดยกําเนิด...”
ปัญหาคือชายหรือหญิงที่แปลงเพศแล้ว จะสามารถเข้าสู่กระบวนการ ทางกฎหมายครอบครัวตาม ปพพ บรรพ 5 โดยอาศัยพระราชบัญญัติฯนี้ได้หรือไม่ ?
คำพิพากษาฎีกาที่ 157/2524 นี้ ควรถูกลบล้างโดยพระราชบัญญัติฯนี้ได้หรือไม่ ?
บุคคลมีการแสดงออกที่แตกต่างจากเพศโดยกำเนิด ไม่ควรได้รับการเลือกปฏิบัติ ควรได้รับสิทธิเท่าเทียมตาม พระราชบัญญัติฯนี้ คือถ้าแสดง ออกเป็นชายก็ควรเป็นชาย ถ้าแสดงออกเป็นหญิง ควรได้เป็นหญิง พฤติการณ์การแสดงออกของบุคคลที่ได้รับความคุ้มครองตาม พระราชบัญญัติฯนี้แล้วนั้นจะถือว่ากฎหมายนี้ได้ให้การรับรองเพศได้เลยหรือไม่ ? (เพราะการรับรองพฤติกรรมตามพระราชบัญญัติฯนี้ถือเอกสารทางการแพทย์ประกอบด้วยอยู่แล้ว) ความเห็นส่วนตัว เห็นว่า เป็นการรับรองเพศแล้ว สามารถเข้าสู่ กระบวนการสร้างครอบครัวตาม ปพพ.บรรพ 5 ได้
อีกประการหนึ่ง คือปัจจุบัน ประเทศไทยมีพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยี่ช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. 2558 ชายกับชาย หรือหญิงกับหญิงที่เป็นคู่ชีวิตกันนี้ สามารถมีบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายโดยอาศัยพระราชบัญญัตินี้ได้หรือไม่ ? เพราะตามคำพิพากษาฎีกาดังกล่าว ถึงแม้นจะแปลงเพศแล้วแต่ผู้ร้องก็ยอมรับว่าไม่สามารถมีบุตรได้ อีกทั้งมาตรา 29 วรรค สอง ของพระราชบัญญัตินี้ บัญญัติว่า “.....ชายหรือหญิงที่บริจาคอสุจิหรือไข่ซึ่งนํามาใช้ปฏิสนธิเป็นตัวอ่อนเพื่อการตั้งครรภ์หรือผู้บริจาคตัวอ่อนและเด็กที่เกิดจากอสุจิ ไข่ หรือตัวอ่อนที่บริจาคดังกล่าว ไม่มีสิทธิและหน้าที่ระหว่างกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยครอบครัวและมรดก ”
จากคำพิพากษาฎีกาข้างต้นนี้จะขัดกับ มาตรา 29 วรรคสอง หรือไม่ ? เห็นว่า ผู้ร้องถึงแม้จะแปลงเพศจากชายเป็นหญิงแล้วแต่ก็ไม่สามารถมีบุตรได้ ซึ่งหากกรณีของผู้ร้องหากได้รับการรับรองเพศตาม พระราชบัญญัติคุ้มครองความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 แล้ว และเมื่อสามารถเข้าสู่ ปพพ บรรพ 5 ได้ ก็ไม่ขัดกับ มาตรา 29 วรรคสอง เพราะถือวาเป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย
ดังนั้นหากผู้ร้องคดีนี้ประสงค์มีบุตรสามารถใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยี่ช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. 2558 นี้ได้
ปัจจุบันโลกก้าวหน้าไปไกลวิถีชีวิตของคนได้รับความคุ้มครองด้านความเป็นอิสสระและเสรีภาพมากขึ้นตามหลักสิทธิมนุษยชนกว่าสมัยดั้งเดิม(แต่ก่อนใครเป็นกระเทยสังคมดูถูก) กฎหมายควรเป็นทางออกให้สังคมไม่ใช่จำกัดสิทธิและเสรีภาพ จึงเห็นว่ากฎหมายที่บังคับใช้ขณะนี้เพียงพอแก้ไขกรณีตามคำพิพากษาฎีกาข้างต้นได้แล้ว
ผู้แต่งและเรียบเรียง: คุณพัชรินทร์ ไวกวี
วัน เดือน ปีที่เผยแพร่: 18 กรกฎาคม 2563
ด้านกฎหมาย
-
ปัญหาความเท่าเทียมระหว่างเพศ* ...
-
-
สมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ร่วมกับ คณะกรรมาธิการสังคม...